วันอาทิตย์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

วัคซีนเสริมหรือวัคซีนเผื่อเลือก



วัคซีนเสริมหรือวัคซีนเผื่อเลือก คือ วัคซีนที่ไม่ได้เป็นวัคซีนบังคับที่ต้องฉีด แต่ขึ้นอยู่กับความพร้อมของพ่อแม่หรือสภาพการเลี้ยงดู หากเด็กอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจจะได้รับเชื้อโรคก็ควรฉีดเพื่อป้องกันไว้ ได้แก่ วัคซีนต่อไปนี้

วัคซีนป้องกันโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จากเชื้อ Haemophilus influenzae

โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Haemophilus influenzae type b (Hib, ฮิบ) โดยผ่านทางเดินหายใจ ทำให้เกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง กระดูกและข้อ ปอด เยื้อหุ้มหัวใจ และเนื้อเยื่ออ่อนนุ่ม การติดต่อของเชื้อนี้ผ่านทางการหายใจเอาละอองฝอยหรือสัมผัสโดยตรงกับเสมหะ

ปริมาณการฉีดและช่วงอายุที่ฉีดได้

ฉีดปริมาณ 0.5 มล. เข้ากล้ามเนื้อ จำนวน 4 เข็ม ซึ่งควรให้ในเด็กที่ฝากเลี้ยงร่วมกัน ที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี ดังนี้

- เด็กอายุน้อยกว่า1 ปี ให้ฉีด เมื่ออายุ 2, 4, 6 และ booster 15 เดือน

- เด็กอายุ 1 ปี ฉีดเมื่ออายุ 1 ปี และ booster 15 เดือน

- เด็กอายุมากกว่า 15 เดือน ให้ฉีดเพียง 1 เข็ม

- สำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ควรได้รับการฉีดกระตุ้นแม้ว่าจะมีอายุมากกว่า 2 ปีแล้วก็ตาม โดยให้ 2 เข็มห่างกัน 2 เดือน

ประสิทธิภาพ

วัคซีนมีประสิทธิภาพให้การป้องกันโรครุนแรงและเยื่อหุ้มสมองอักเสบได้สูงเมื่อให้ครบ 3 เข็มโดยพบว่าช่วยลดอุบัติการณ์การเกิดโรคได้มากกว่าร้อยละ 90 และลดการเป็นพาหะของเชื้อฮิบในลำคอได้ร้อยละ 64 ซึ่งช่วยลดการแพร่เชื้อได้

วัคซีนป้องกันโรคไอพีดี

โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสเป็นโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียได้หลายชนิด แต่ที่พบบ่อยคือเชื้อ Streptococcus pneumoniae ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการติดเชื้อเฉพาะที่ในระบบทางเดินหายใจ โพรงจมูกอักเสบ หูชั้นกลางอักเสบ และไซนัสอักเสบ และที่รุนแรงยิ่งขึ้นคือก่อให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดอักเสบ และเยื่อหุ้มสมองอักเสบ ซึ่งร่วมเรียกว่าโรคไอพีดี ( Invasive Pneumococcal Disease) ในอดีตการรักษาทำได้ง่ายด้วยยาในกลุ่มเพนนิซิลิน แต่ปัจจุบัน เชื้อ Streptococcus pneumoniae มีปัญหาเรื่องการดื้อยาเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหาในการรักษาเป็นอย่างมาก
อาการเบื้องต้นคล้ายไข้หวัด มีไข้สูง งอแง เซื่องซึม ปวดศีรษะ คลื่นไส้และอาเจียน ในเด็กเล็กอาจไม่ยอมกินนม และเมื่อมีการติดเชื้อรุนแรงขึ้นทั้งทางเดินหายใจส่วนบนถึงส่วนล่าง อาจพบการติดเชื้อในระบบประสาทและเยื่อหุ้มสมองอักเสบ จนทำให้เกิดความพิการทางระบบประสาทและการได้ยิน รวมไปถึงการติดเชื้อในเลือดและกระดูก ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้ภายในเวลา 2-3 วัน

การป้องกัน

สำหรับผู้ป่วยที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อนิวโมคอคคัสควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัส ซึ่งปัจจุบันมี 2 ชนิด คือวัคซีนชนิด unconjugate สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 2 ปีและคนชรา ซึ่งครอบคลุมเชื้อก่อโรครุนแรงได้ร้อยละ 60-90 และวัคซีนชนิด conjugate สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ซึ่งครอบคลุมเชื้อก่อโรคไอพีดีได้ร้อยละ 62-69 ซึ่งส่วนใหญ่ดื้อต่อยา penicillin และ cefotaxime เนื่องจากวัคซีนมีราคาแพง ราคาเข็มละประมาณ 4000 บาท ดังนั้นการให้จึงควรพิจารณาความคุ้มค่าระหว่างค่าใช้จ่ายกับอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรค

ปริมาณการฉีดและช่วงอายุที่ฉีดได้
ให้ครั้งละ 0.5 มล. ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ โดยให้ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 2 ปี จำนวน 4 เข็ม เช่นเดียวกับ Hib vaccine ดังนี้

- เด็กอายุน้อยกว่า1 ปี ให้ฉีด เมื่ออายุ 2, 4, 6 และ booster 12-15 เดือน

- เด็กอายุ 7-11 เดือน ให้ฉีด 2 ครั้งห่างกัน 2 เดือน และ booster 12-15 เดือน

- เด็กอายุ 1-5 ปี ฉีดครั้งเดียว ยกเว้นเด็กภูมิคุ้มกันต่ำให้ฉีด 2 ครั้งห่างกัน 2 เดือน

เนื่องจากอุบัติการณ์ในประเทศยังน้อย ความครอบคลุมของวัคซีนต่อเชื้อก่อโรคมีพอสมควร แต่วัคซีนมีราคาสูง กลุ่มเสี่ยงที่ควรได้รับวัคซีนนี้ได้แก่ เด็กที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เด็กที่มีภาวะภูมิแพ้ทางเดินหายใจและป่วยบ่อย ทำให้มีโอกาสติดเชื้อชนิดนี้ได้สูง


วัคซีนป้องกันโรคลำไส้อักเสบ เนื่องจากไวรัสโรต้า
โรคลำไส้อักเสบเนื่องจากไวรัสโรต้ามักพบแพร่ระบาดในศูนย์รับเลี้ยงเด็ก อุจจาระของเด็กที่ติดเชื้อมีไวรัสจำนวนมหาศาล ไวรัสทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี เชื้อกระจายในฝุ่นเปื้อนของเล่นและของใช้ต่าง ๆ และเข้าสู่ร่างกายเมื่อเด็กหยิบจับสิ่งของต่าง ๆ ที่เปื้อนเชื้อเข้าปาก


อาการ

ระยะฟักตัวสั้นมาก น้อยกว่า 2 วัน ก็เริ่มมีไข้ อาเจียนในช่วง 2-3 วันแรก มีอาการถ่ายเหลวเป็นน้ำ มีฟอง มีกลิ่นเปรี้ยว ติดต่อกันนาน 3-8 วัน ทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่ ส่วนใหญ่อาการจะหายได้เอง แต่รายที่รุนแรงอาจเสียชีวิตเพราะภาวะขาดน้ำ ภายหลังหายจากโรคแล้ว บางรายยังมีความผิดปกติของการดูดซึม เพราะเซลล์เยื่อบุผิวลำไส้ถูกทำลาย

เด็กที่เคยติดเชื้อแล้ว ยังอาจเกิดซ้ำได้อีกจากไวรัสต่างสายพันธุ์ แต่ความรุนแรงจะลดน้อยลงกว่าครั้งแรก ๆ เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่ได้จากการติดเชื้อครั้งก่อน ลดความรุนแรงโรคได้

วัคซีนโรต้า

เป็นวัคซีนเชื้อมีชีวิตที่อ่อนกำลังมี 2 ชนิดคือ

1) RotaRix® หรือ RV1 ซึ่งเป็นไวรัสสายพันธุ์เดี่ยว (monovalent, G1P[8]) ที่แยกได้จากคนไข้ และทำให้อ่อนกำลังโดยเลี้ยงในเซลล์ไตลิงเพาะเลี้ยง (vero cell) ติดต่อกันหลายๆครั้ง ทำเป็นรูปผงแห้งในขวดปิดจุกยางมาพร้อมกับตัวทำละลาย 1 มล. บรรจุในหลอดพลาสติดคล้ายกระบอกฉีดยา (แต่อย่าเผลอสวมเข็มและให้โดยวิธีฉีด) กระจายผงยาในตัวทำละลายที่ให้มาคู่กัน ก่อนหยดใส่ปากทารก เด็กที่แพ้ยางไม่ควรเลือกใช้วัคซีนยี่ห้อนี้


ขนาดและวิธีให้วัคซีน

วัคซีนทั้งสองชนิดให้โดยวิธีค่อยๆหยดเข้าปากเด็ก ตารางการให้วัคซีนตามปกติ RotaRix® ให้ 2 ครั้ง ครั้งละ 1 มล. เมื่อทารกอายุ 2 และ 4 เดือน ส่วน RotaTeq® ให้ 3 ครั้ง ครั้งละ 2 มล. เมื่อทารกอายุ 2 เดือน 4 เดือนและ 6 เดือน วัคซีน 2 ชนิด

กรณีเร่งด่วนวัคซีนโด๊สแรกอาจเริ่มให้ได้ตั้งแต่อายุ 6 สัปดาห์ แต่อย่างช้าไม่เกินอายุ 14 สัปดาห์ 6 วัน และต้องได้รับวัคซีนครบทุกโด๊สเมื่ออายุไม่เกิน 8 เดือน หากเกินกว่านี้ยังไม่มีข้อมูลเรื่องความปลอดภัย

ประสิทธิภาพของวัคซีน

ประสิทธิภาพของวัคซีนทั้งสองชนิดไม่ต่างกัน สำหรับไวรัสสายพันธุ์ที่มี G1, G2, G3, G4 หรือ P[8] วัคซีนทั้งสองมีประสิทธิภาพป้องกันการเกิดโรคอย่างรุนแรงได้ร้อยละ 85-98 ป้องกันการเกิดโรคทุกขนาดความรุนแรงในฤดูกาลระบาดปีแรกที่รับวัคซีนร้อยละ 74-87

ภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อไวรัสสายพันธุ์หนึ่งสามารถป้องการการเกิดโรคหรือลดความรุนแรงของโรคอันเกิดจากไวรัสโรต้าสายพันธุ์อื่นได้ ดังนั้นแม้สายพันธุ์ในวัคซีนจะไม่ตรงกับไวรัสที่ก่อโรคในภูมิภาคนั้น ๆ แต่วัคซีนยังให้ผลป้องกันหรือลดความรุนแรงของโรคได้


ผลข้างเคียง
ผลข้างเคียงต่างๆภายหลังรับวัคซีน เช่น อาการปวดท้อง หรือถ่ายเหลวช่วงสั้น ๆ ไม่แตกต่างจากกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีน การเฝ้าระวังความปลอดภัยของวัคซีนหลังออกสู่ท้องตลาด มีรายงานในเม็กซิโก การรับวัคซีนโรต้าเพิ่มความเสี่ยงเล็กน้อย ที่จะเกิดลำไส้กลืนกัน (1 รายต่อวัคซีน 1 แสนโด๊ส) แทบทุกรายเกิดภายใน 7 วันหลังรับวัคซีนโด๊สแรก แต่ยังไม่มีรายงานในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีการใช้วัคซีนทั้งสองหลายล้านโด๊ส

แนะนำให้สังเกตความผิดปกติต่าง ๆ ภายหลังรับวัคซีนประมาณ 1 สัปดาห์ เช่น ทารกกรีดร้องเพราะอาการปวดท้องรุนแรง มีอาเจียนหลายครั้ง หรือมีเลือดในอุจจาระหรือไม่ และสังเกตุอาการแพ้วัคซีนอย่างรุนแรง เช่น ชีพจรเต้นเร็ว ซีด หายใจลำบากมีเสียงวิ๊ด ๆ หรือกลืนลำบาก หากเป็นเช่นนั้น ต้องส่งโรงพยาบาล และงดรับวัคซีนครั้งต่อไป


ข้อห้ามใช้

1. แพ้วัคซีนอย่างรุนแรง

2. ภูมิคุ้มกันบกพร่องรุนแรง (Severe Combined Immunodeficiency Disease, SCID).

3. มีประวัติเกิดลำไส้กลืนกัน

คำแนะนำ

1. เด็กที่จะรับวัคซีนโรต้าไม่ต้องงดนมแม่

2. เด็กที่รับวัคซีนปล่อยไวรัสในวัคซีนออกมากับอุจจาระได้นาน ล้างมือให้สะอาดภายหลังการเปลี่ยนผ้าอ้อม

3. ถ้าทารกเกิดติดเชื้อก่อนรับวัคซีนครบจำนวนครั้ง ให้รับวัคซีนต่อให้ครบตามกำหนด เพราะยังมีประโยชน์ในการลดความรุนแรงของโรคสำหรับการติดเชื้อครั้งต่อไป

4. หากทารกสำรอกภายหลังรับวัคซีน ไม่แนะนำให้รับวัคซีนซ้ำ เพราะเกรงปัญหารับเกินขนาด อาจทำให้เกิดลำไส้กลืนกัน


คลิกเพื่ออ่าน   วัคซีนตับอักเสบเอ

คลิกเพื่ออ่าน   วัคซีนไข้หวัดใหญ่


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น